pattern

ปักกิ่ง เมืองแห่งสังคมดิจิทัล

     11,325

pattern

กรุงปักกิ่งคือเมืองแห่งนวัตกรรมของจีน

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนได้เปิดเผยรายงานการจัดอันดับสุดยอดเมือง/มณฑลแห่งวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ตัวชี้วัดที่ใช้ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการวิจัยและพัฒนา ประสิทธิผลการผลิต การนำผลงานวิจัยไปใช้งานจริง โครงสร้างเศรษฐกิจ และจำนวนสิทธิบัตร เป็นต้น

ผลพบว่า ปักกิ่งนำเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 85/100 ตามมาด้วยเซี่ยงไฮ้ (84) และเทียนจิน (80)

ผมไม่แปลกใจกับผลการจัดอันดับดังกล่าวเท่าไรนัก เพราะเท่าที่ได้สัมผัสและสังเกตมาสักพักหนึ่งก็พบว่า ชาวปักกิ่งมีการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว ภาพคนปั่นจักรยาน ofo ริมถนนคือสิ่งที่คุ้นตา คุณลุงคุณป้าสแกน QR Code เพื่อซื้อผักในตลาดสดคือเรื่องธรรมดา หรือหนุ่มสาววัยทำงานแอบบ่นว่าเงินเดือนไม่พอใช้เพราะถูก Taobao (เว็บช็อปปิงออนไลน์) ดูดเงินไปจนหมดก็มีให้ได้ยินจนผมแอบอมยิ้มอยู่บ่อย ๆ

เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถปฏิเสธได้แล้วว่าเมืองใหญ่ในประเทศจีนอย่างปักกิ่ง กำลังกลายเป็นเมืองแห่งสังคมดิจิทัล ซึ่งมีหลายมิติให้ศึกษาดังที่จะกล่าวต่อไป

สังคมไร้เงินสด

กรุงปักกิ่งกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันการเงินศึกษาฉงหยัง (Chongyang Institute for Financial Studies) ของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ร่วมมือกับ อิปซอสส์ (Ipsos) บริษัทวิจัยด้านการตลาดจากฝรั่งเศส ได้สำรวจความสบายใจในการใช้จ่ายด้วยระบบไร้เงินสดจากกลุ่มตัวอย่างในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนจำนวน 324 แห่ง

beijing-the-city-of-digital-society

ผลการสำรวจพบว่า ชาวปักกิ่งมีความสบายใจในการใช้จ่ายด้วยระบบดังกล่าวมากที่สุด โดยร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายตลอดทั้งสัปดาห์ด้วยเงินสดเพียง 100 หยวน ขณะที่ร้อยละ 84 บอกว่าสามารถออกจากบ้านได้เพียงพกสมาร์ตโฟนไปแค่เครื่องเดียว และเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงแนวโน้มดังกล่าว Alipay และ WeChat Pay สองผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์รายใหญ่ของจีน ได้ร่วมกันประกาศให้เดือนสิงหาคมเป็น “เดือนไร้เงินสด” (Cashless Month) เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการดังกล่าวมากขึ้น

ภาคเอกชนคือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยให้จีนก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล

โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์รายใหญ่สองเจ้า ได้แก่ Alipay ของเครืออาลีบาบา และ WeChat Pay จากบริษัท Tencent ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 90 โดย Alipay เริ่มผูกบริการชำระเงินออนไลน์เข้ากับร้านค้าออนไลน์ Taobao ทำให้ประชาชนสามารถจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันได้โดยสะดวก ขณะที่ WeChat Pay ก็เป็นบริการเสริมที่เพิ่มมากับแอปพลิเคชัน WeChat ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า กลยุทธ์ที่ทั้งสองบริษัทใช้ในการกระตุ้นและสร้างการรับรู้ในนวัตกรรมดังกล่าวคือการเชื่อมโยงเข้ากับบริการเดิมที่ผู้บริโภคคุ้นเคย

ปัจจัยที่ทำให้ระบบการชำระเงินออนไลน์เป็นที่ยอมรับในสังคมจีน

คือ ไม่ต้องการบัตรเครดิตในการใช้งาน สอดคล้องกับประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาและประชาชนไม่ต้องการเป็นหนี้ ทำให้ทุกคนที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารก็สามารถลงทะเบียนเปิดใช้งานได้ทันที ซึ่งตรงข้ามกับบริการลักษณะเดียวกันของบริษัทตะวันตกอย่าง Apple Pay หรือ PayPal ที่ผู้ใช้ต้องมีบัตรเครดิต

แชริง อีโคโนมี (Sharing Economy)

ระบบการคมนาคมก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเช่นกัน สมัยก่อนเราคงคุ้นเคยกับภาพชาวปักกิ่งปั่นจักรยานสัญจรในเมือง ปัจจุบันภาพเหล่านั้นยังคงอยู่แต่อัปเกรดเป็นการอวดสีสันระหว่างธุรกิจ bike sharing อย่าง ofo และ Mobike ที่ได้รับความนิยมมากเพราะราคาไม่แพงและใช้งานสะดวก เนื่องจากได้ผนวกระบบการชำระเงินออนไลน์ด้วยการสแกน QR Code ผู้ใช้จึงสามารถชำระเงินค่าบริการผ่านสมาร์ตโฟน เช่นเดียวกับร้านค้าสะดวกซื้อและร้านอาหารขนาดย่อม หรือกระทั่งตู้รับบริจาค ก็มีสัญลักษณ์ QR Code ให้สแกนโอนเงินได้โดยสะดวก และช่วยลดต้นทุนที่จะเกิดจากการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรอีกด้วย

beijing-the-city-of-digital-society

car sharing ก็มีท่าทีไปได้สวยในเมืองปักกิ่ง

เพราะกระทรวงคมนาคมจีนกับกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมืองและชนบทได้ประกาศแนวทางสนับสนุนธุรกิจดังกล่าวออกมาแล้ว โดยกำชับให้ผู้ให้บริการต้องมีการพัฒนาคุณภาพของบริการด้วยการตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวด คุณภาพรถต้องได้มาตรฐาน ต้องมีการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้รับบริการ ให้มีการนำเทคโนโลยี Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์ความต้องการใช้รถ และให้มีการใช้ระบบการมอบเครดิตกับผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังมีการกำหนดให้ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่อยู่อาศัยสำรองพื้นที่พิเศษไว้สำหรับจอดรถ car sharing เหล่านี้ เพื่อลดแรงจูงใจการใช้รถยนต์ส่วนตัว อีกทั้งยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้รถพลังงานทางเลือกในการให้บริการ โดยภาครัฐจะให้การช่วยเหลือส่วนหนึ่ง

ยังไม่นับรถไฟความเร็วสูงที่มีการเปิดให้บริการกว่า 2,595 ขบวนทั่วประเทศจีน หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก ล่าสุดจีนกำลังพัฒนารถไฟความเร็วสูงรุ่นใหม่ที่วิ่งด้วยความเร็ว 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 หรืออีกเพียงสามปีข้างหน้า

อีคอมเมิร์ช (E-Commerce)

รายงานล่าสุดจากศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจีนระบุว่า จีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต (netizen) กว่า 751 ล้านคน หรือเกินครึ่งของประชากรทั้งประเทศกว่า 1,400 ล้านคน โดยมีประชากรกว่า 514 ล้านคนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ตัวเลขผู้บริโภคมหาศาลดังกล่าวทำให้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ชของจีนจะเป็นที่จับตาของคนทั่วโลก

beijing-the-city-of-digital-society

ผู้ให้บริการหลักคงเป็นอื่นไกลไม่ได้นอกจากยักษ์ใหญ่ Alibaba ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดถึง 442 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการจ้างงานถึง 56,000 ตำแหน่ง และมียอดจัดส่งสินค้ามากถึง 65 ล้านรายการทุกปี Alibaba เป็นเจ้าของหน้าร้านออนไลน์อย่าง Tmall และ Taobao ที่มีขายตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ส่วนคู่แข่งอย่าง JD.com นั้นก็โดดเด่นด้วยเครือข่ายจัดส่งทั่วประเทศจีนครอบคลุมกว่าร้อยละ 99 ของประชากรจีน ทำให้กว่าร้อยละ 92 ของสินค้าทั้งหมด จัดส่งถึงมือลูกค้าภายในวันที่สั่งหรือหนึ่งวันถัดไป

จุดแข็งของอีคอมเมิร์ชจีนอยู่ที่มักเป็นการซื้อขายสินค้าแบบ B2C ที่ผู้ให้บริการจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของเจ้าของร้านโดยละเอียด หากพบว่ามีการโกงหรือขายของในลักษณะหลอกลวงก็มีสิทธิถูกแบนได้ในทันที เช่น กรณีของ JD.com ที่มีนโยบายไม่ทนต่อสินค้าปลอมทุกชนิด ทำให้บริษัทมีระบบการลงโทษที่รุนแรงและเข้มงวด มีการสุ่มตรวจ และลูกค้าสามารถคืนของได้หากถูกหลอก เป็นต้น

ที่สำคัญ ทั้ง Alibaba กับ JD.com ต่างมีแผนใช้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีการจัดตั้งโกดังสินค้าอัจฉริยะแบบเดียวกับที่ใช้ในจีน จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการชาวไทยที่จะได้เปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มของสองค่ายยักษ์ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าของตนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

 

Credit: bitwiredblog

 

--------------------------------------------------


สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากจะเพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ปกปิดตัวตนในโลกออนไลน์ แนะนำบริการ BullVPN ของเราได้เลยครับ อีกทั้งยังทะลุบล็อกเว็บไซต์ ปรับอินเทอร์เน็ตให้เสถียร ปลดบล็อกเน็ตหอพัก มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน 
สมัครทดสอบฟรีได้ที่นี่เลย www.bullvpn.com